GL เทค 29.99% ในบริษัทไฟแนนซ์ชั้นนำศรีลังกา คาดบุ๊คกำไรทันที 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

03 Oct 2016

บมจ.กรุ๊ปลีส ผู้นำธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประกาศศักดารุกขยายธุรกิจออกนอกกลุ่มประเทศอาเซียนสู่เอเชียใต้ เข้าถือหุ้น 29.99% ในบริษัท Commercial Credit and Finance PLC (CCF) ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนนซ์ชั้นนำได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางศรีลังกาและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ ผนึกกำลังเตรียมขยายตลาดครั้งใหญ่ จากเดิมที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อสำหรับการอุปโภคบริโภค ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์สู่ตลาดไมโครไฟแนนซ์ในระดับรากหญ้าในกลุ่มประเทศ CLMV+I (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและอินโดนีเซีย)

นายมิทซิจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL กล่าวชี้แจงว่า การเข้าถือหุ้น 29.99% ใน CCF ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยจะผสมผสานแพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ที่มีต้นทุนต่ำและประสิทธิภาพสูงของ GL กับโมเดลธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งของ CCF ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดทุกแห่งที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยนายมิทซึจิคาดว่าการเข้าถือหุ้นใน CCF ครั้งนี้จะสร้างผลกำไรต่อ GL ทันที เริ่มตั้งแต่ ไตรมาส 4 นี้ โดยประมาณการว่า GL จะสามารถบันทึกกำไรประมาณ 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า GL ยังมีโอกาสซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 70% ใน CCF หากผู้ถือหุ้นปัจจุบันต้องการขายหุ้นในอนาคตภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ซึ่งให้สิทธิ์ลำดับแรกสำหรับ GL ที่ระบุไว้ในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

การเข้าถือหุ้นใน CCF ซึ่งกลุ่ม GL ใช้เงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) ในครั้งนี้ ถือเป็นการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่นอกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยแต่เดิม GL ได้ขยายจากฐานธุรกิจในประเทศไทยสู่ประเทศข้างเคียง อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และล่าสุดเมียนมาร์ โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งในประเทศกัมพูชา ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าผลกำไรจากธุรกิจในประเทศไทย

ควบคู่กับการเข้าถือหุ้น CCF ในครั้งนี้ GLH ยังได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท BG Microfinance Myanmar Co Ltd (BGMM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CCF ที่ดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมาร์ จากเดิม 71.9% เป็น 100% โดยซื้อหุ้นเพิ่มส่วนที่เหลืออีก 28.1% จาก CCF อีกด้วย

นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจง ในงานแถลงข่าวหลังจากพิธีลงนามการซื้อขายหุ้นกับ CCF ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ว่า การเข้าถือหุ้นใน CCF ครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อผลประกอบการของกลุ่ม GL โดยรวมทันที เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจาก CCF จะถูกบันทึกตั้งแต่ในไตรมาส 4/59 นี้ โดย CCF เป็นบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน ศรีลังกา ที่มีผลกำไรดีและมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการบริหารจัดการในธุรกิจ ไมโครไฟแนนซ์ โดย CCF มีฐานสินทรัพย์ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับฐานสินทรัพย์ประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐของ GL แต่มูลค่าตลาดของ GL สูงกว่า CCF เป็นอย่างมาก เนื่องจากความแข็งแกร่งและขนาดที่ใหญ่กว่าของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของศรีลังกาที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอย่างมาก สำหรับประมาณการกำไรสุทธิของ CCF ในปีนี้อยู่ที่ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายมิทซึจิ กล่าวว่า GL จะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมในบอร์ดของ CCF แต่จะให้คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันมีอิสระในการบริหารต่ออย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้บริหารชุดปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก “CCF เป็นบริษัทที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยมีการบริหารดีเยี่ยม ทางฝ่ายเราอาจจะช่วยเสริมด้วยธุรกิจเพิ่มเติมอย่างเช่น e-payment, e-commerce และประกันภัย”

สำหรับสัญญาการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ถือว่ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2559 โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ การประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของทั้ง 2 ฝ่ายและรายงานความถูกต้องของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ โดยนายมิทซึจิ แสดงความมั่นใจว่า ข้อตกลงระหว่าง GL กับ CCF จะเป็นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย

“แพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ของเราจะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพความชำนาญ และโนฮาวด้านไมโครไฟแนนซ์ ของ CCF และในขณะเดียวกัน CCF ก็มีความจำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งฝ่ายเราสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี ด้วยขีดความสามารถของเราในการระดมทุนจากตลาดเงินทั่วโลก” นายมิทซึจิ กล่าว

นายมิทซึจิ กล่าวสรุปว่า การผนึกกำลังกับ CCF ครั้งนี้ จะส่งผลอย่างดียิ่งต่อรายได้และผลกำไรของ GL ในอนาคต เนื่องจากโมเดล group finance ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างสมบูรณ์แบบในถิ่นกำเนิดไมโครไฟแนนซ์ในประเทศศรีลังกาและบังคลาเทศ จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของ GL ต่อการขยายตลาด จากตลาดเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเดิมไปสู่ตลาดไมโครไฟแนนซ์ระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากในภูมิภาคแถบนี้