ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
- ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำขององค์กร โดยเสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล และกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน
- กำกับดูแล ให้บริษัทประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส มีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขัน และการมีผลประกอบการที่ดี รวมทั้งสามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท
ระบบการควบคุมภายใน
- ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยการประสานงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้บริหาร เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดีอยู่เสมอ โดยจัดให้มีการวัดผล ทบทวนแนวทาง และพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
การนำนวัตกรรมมาใช้ในการปฏิบัติงาน
- ส่งเสริมการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือการให้บริการแก่ลูกค้า หรือคู่ค้า อย่างเหมาะสม รวมทั้งการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า บนพื้นฐานของการมีจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการสร้างคุณค่า ตลอดจนผลประกอบการที่ดีให้แก่บริษัทอย่างยั่งยืน
การพัฒนาบุคลากร
- ดูแลให้มีการบริหารบุคลากรที่ดี ในด้านการพัฒนาและให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และการจัดสรรค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อเป็นแรงจูงใจ และสอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร
ความโปร่งใส
- สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบัญญัติต่างๆ ซึ่งออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลประโยชน์ทับซ้อน
- ควบคุมดูแลธุรกรรม อันอาจเป็นเหตุให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ระมัดระวังให้เกิดความโปร่งใส และบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมหรือสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายใน และภายนอกองค์กร รวมทั้งให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สิทธิและความเสมอภาค
- เคารพสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น ด้วยการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเป็นธรรม โดยเท่าเทียมกัน เช่น สิทธิในการมีส่วนแบ่งกำไรของบริษัท การได้รับข่าวสารข้อมูลของบริษัทอย่างเพียงพอเสมอภาค การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัทฯ เป็นต้น
การกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมทั้งสังคมส่วนรวม โดยบริษัท สนับสนุนและส่งเสริมให้กรรมการ, ผู้บริหารตลอดจนพนักงานทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องภายใต้กฎหมาย จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและหลักธรรมาภิบาลที่ดี