บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3/2561 มีรายได้ 729.56 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 104.64 ล้านบาท สร้างผลกำไรต่อเนื่อง 4 ไตรมาส หลังจากการตั้งสำรอง เพียงครั้งเดียวในไตรมาสที่ 3/2560
นาย อาลัน ดูเฟส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 104.64 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลกำไรที่เติบโตติดต่อกัน 4 ไตรมาส โดยรายได้เพิ่มขึ้น 500,000 บาท หรือ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในด้านการบริการและการบริหารลดลง 400,000 บาท หรือ 0.1% อย่างไรก็ตามเนื่องจากขนาดของพอร์ตโฟลิโอที่ลดลงในประเทศไทย ตามที่บริษัทฯ เคยกล่าวถึงและทำการตัดเป็นหนี้สูญไปแล้วหนึ่งครั้งสำหรับตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวน 12.51 ล้านบาท และหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น 36.28 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้โดยรวมกำไรสุทธิลดลง 17% (104.64 ล้านบาท จาก 125.98 ล้านบาท) และกำไรจากผลการดำเนินงานลดลง 23% (103.24 ล้านบาท จาก 134.69 ล้านบาท) ในหนึ่งไตรมาส อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ด้านการเงินในไตรมาสนี้ถือว่าดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น จากเดิมขาดทุน 2,267.43 ล้านบาท เป็นได้กำไร 104.64 ล้านบาท
นาย ทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำว่า “ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ยังคงมีผลกำไรทุกไตรมาส เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และวางแผนงานให้บริษัทอยู่ในสถานะที่มั่นคงและดีที่สุดสำหรับการเติบโตและการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เนื่องจากผลกำไรที่มีการเติบโต 4 ไตรมาสติดต่อกัน นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้แก้ไขงบการเงินปี 2560 ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แจ้งมายังบริษัทฯ และขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งใดๆ เพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างเต็มที่ในทุกด้าน”
สำหรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจแต่ละประเทศในอนาคต บริษัทฯ เตรียมเดินหน้าเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตโฟลิโอและจัดกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นการยอมรับการหดตัวลงของพอร์ตโฟลิโออย่างที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพ ของลูกหนี้ของบริษัทฯ ในประเทศไทย ทางบริษัทฯ ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวด มากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเป็นสาเหตุทำให้อัตราการอนุมัติสัญญาลดลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่ารายจ่ายจากหนี้สูญและ หนี้สงสัยจะสูญจะลดลง เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2561 และต้นปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการเพิ่มการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ และในไตรมาสนี้ได้มีการตัดหนี้สูญครั้งเดียวจากลูกหนี้ของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแสดงถึงสถานะทางการเงินที่แท้จริง ทั้งนี้ บริษัทฯร่วมของเราในประเทศศรีลังกาได้มีการเพิ่มการตั้งสำรองหนี้เผื่อสูญและหนี้สงสัยจะสูญเช่นเดียวกันโดยที่มีการตั้งสำรองสูงขึ้นมากกว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2560
“นอกจากนี้ประเทศเมียนมายังคงเป็นตลาดหลักที่สำคัญและมีการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการที่บริษัทฯ ได้รับสัญญากับบริษัทฮอนด้าเพิ่มขึ้น 368% ในไตรมาส 3/2561 (เกือบ 50,000 ราย) และมีลูกค้าสินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นกว่า 272% จากปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 145,000 ราย ถือว่าคุณภาพของลูกหนี้อยู่ในระดับที่ดีมาก และบริษัทฯ ยังคงมีอัตราหนี้เสียหรือ NPL อยู่ที่ 0% สำหรับสินเชื่อเพื่อรายย่อย
โดยภาพรวมแล้ว บริษัทฯ คาดว่าประเทศไทยยังคงความเสถียรภาพ แต่มีการพัฒนาคุณภาพลูกหนี้ ให้ดีขึ้น ในขณะที่ธุรกิจใน สปป.ลาว ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในทิศทางที่ดี ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศกัมพูชา บริษัทฯ จะลดการขับเคลื่อนลง และมุ่งเน้นที่ประเทศเมียนมาที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น บริษัทฯ คาดว่า ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นรากฐานของการเติบโตในอนาคตต่อไป” นายทัตซึยะ กล่าวสรุป